วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระมหาธรรมราชาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑)

พระมหาธรรมราชาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑)

     พระมหาธรรมราชาลิไท เป็นโอรสของพ่อขุนเลอไท และเป็นนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชประวัติในช่วงปฐมวัย ไม่ปรากฎ ณ ที่ใด แต่เมื่อทรงพระเจริญวัยแล้วศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลักกล่าวถึงเรื่องราวของพระองค์แม้จะไม่สมบูรณ์แต่ก็พอทราบเรื่องราวได้ว่า พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่ผู้ปกครองในขณะนั้นต้องเรียนต้องศึกษาได้อย่างแตกฉาน และชำนิชำนาญยิ่ง และทรงปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ในฐานะองค์อุปราชหรือรัชทายาทเมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๒ และขณะที่ดำรงพระราชสริยยศเป็นรัชทายาท ที่เมืองศรีสัชนาลัยนี่เอง ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีชิ้นแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๘ หนังสือเรื่องนี้แม้ผู้รจนาได้กล่าไว้ในบางแผนกว่า เพื่อจะเทศนาแก่พระมารดาของพระองค์ แต่เป็นประกาศนียบัตรที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถในความรอบรู้เรื่องพระพุทธศาสนาอย่างยอดเยี่ยมเป็นวิทยานิพนธ์ที่ก้าวล้ำหน้าสมบูรณ์แบบ เพราะที่มีข้ออ้างอิงที่เป็นระบบโดยทรงค้นคว้ามาจากคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา ถึง ๓๔ เรื่อง ไตรภูมิพระร่วง นอกจากจะให้เนื้อหาสาระทางพระพุทธศาสนา อันเป้าหมายของผู้รจนาแล้ว ยังให้ความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิศาสตร์ของโลกที่คนไทยรู้จักกันในสมัยนั้นถือการแบ่งทวีปทั้ง ๔ อันมี ชมพูทวีป บุพวิเทหะ อุตรกุรุและกมรโคยานี
                หลังจากทรงเป็นรัชทายาทครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ๘ ปี จึงเสด็จมาครองสุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ โดยต้องใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจเพราะที่สุโขทัยหลังสิ้นรัชกาลพ่อขุนงัวนำถมแล้วเกิดการกบฏการสืบราชบัลลังก์ไม่เป็นไปตามครรลองครองธรรม เมื่อกลับมาครองราชสมบัติสุโขทัยแล้ว พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ คือ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เพราะสุโขทัยหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้วบ้านเมืองแตกแยกแคว้นหลายแคว้นในราชอาณาจักรแยกตัวออกห่างไป ไม่อยู่ในบังคับบัญชาสุโขทัยต่อไป
                พญาลิไททรงคิดจะรวบรวมให้กลับคืนดังเดิม แต่ก็ทรงทำไม่สำเร็จ นโยบายการปกครองที่ใช้ศาสนาเป็นหลักรวมความเป็นปึกแผ่นจึงเป็นนโยบายหลักในรัชสมัยนี้ ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก และเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ ทรงออกผนวช การที่ทรงออกผนวช นับว่าทำความมั่นคงให้พุทธศาสนามากขึ้น ดังกล่าวแล้วว่า หลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยก วงการสงฆ์เองก็แตกแยก แต่ละสำนักแต่ละเมืองก็ปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เมื่อผู้นำทรงมีศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นออกบวช พสกนิกรทั้งหลายก็คล้อยตามหันมาเลื่อมใสตามแบบอย่างพระองค์ กิตติศัพท์ของพระพุทธศาสนาในสุโขทัยจึงเลื่องลือไปไกล พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปได้ออกไปเผยแพร่ธรรมในแคว้นต่าง ๆ เช่น อโยธยา หลวงพระบาง เมืองน่าน พระเจ้ากือนา แห่งล้านนาไทย ได้นิมนต์พระสมณะเถระไปจากสุโขทัย เพื่อเผยแพร่ธรรมในเมืองเชียงใหม่
                พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท มีมเหสีชื่อพระนางศรีธรรม ทรงมีโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อมาคือ พระมหาธรรมราชาที่สอง  ปีสวรรคตของกษัตริย์พระองค์นี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คงอยู่ในระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น