วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

พ่อขุนศรีอินทราทิตย์

  ชีวิตในเยาว์วัยของผู้สถาปนากรุงสุโขทัย อันเป็นองค์ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงพระองค์นี้ไม่เป็นที่ปรากฏชัด ณ ที่แห่งใด ในศิลาจารึก ตำนาน พงศาวดารและจดหมายเหตุต่าง ๆ ก็ไม่ได้กล่าวถึง ปฐมวัยของผู้นำคนไทยผู้นี้ไว้ที่ใด คงมีเพียงหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระเถระแห่งล้านนาไทย ชื่อ พระรัตนปัญญาเถระ แต่งขึ้นเพื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๐๖๑  ๒๐๗๑ พูดถึงอย่างย่อ ๆ ว่า ...เมื่อพระสัมมาสัมพุทธปรินิพพานแล้วได้ ๑๘๐๐ ปี จุลศักราช ๖๑๘ มีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า โรจราช ครองราชสมบัติอยู่ในเมืองสุโขทัย ประเทศสยาม ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของชมพูทวีป...
                ได้ยินว่า ที่ตำบลบ้านโค ยังมีชายคนหนึ่งรูปงาม มีกำลังมากท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง เห็นชายคนนั้นแล้วใคร่จะร่วมสังวาสด้วย จึงแสดงมายาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น เนื่องจากการร่วมสังวาสของเขาทั้งสองนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่งและบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้นชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชสมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฎพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราชภายหลังปรากฏพระนามว่า พระเจ้าล่วง...  ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสงมนวิฑูร ผู้แปลหนังสือเรื่องนี้ให้คำอธิบายว่าพระเจ้าโรจราชสมัย พ.ศ. ๑๘๐๐ นั้น คือ พ่อขุนบางกลางหาว ปฐมกษัตริย์ราชวงพระร่วง ในศิลาจารึกเรียกว่า ศรีอินทราทิตย์บ้านโค นั้นอาจเป็นบ้านโคน หรือเมืองบางคนทีในเขตจังหวัดกำแพงเพชร พระเจ้าล่วงก็คือ พระร่วง
                แม้จะเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเลื่อนลอย ไม่ว่าระยะเวลา สถานที่หรือตัวบุคคลแต่ชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนขึ้นหลังเหตุการณ์นั้นประมาณ ๒๐๐ ปี ซึ่งไม่ใช่ระยะเวลาที่ห่างจนเกินไปนัก จึงน่าจะมีเค้าความเป็นจริงปะปนอยู่บ้าง แม้อาจไม่ใช่ทั้งหมด พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปรากฏชัดในประวัติศาสตร์สุโขทัย หลายหลักโดยเฉพาะหลักที่ ๒ หรือหลักวัดศรีชุม กล่าวว่า ก่อนที่จะได้เป็นกษัตริย์ครองสุโขทัยนั้น ได้เป็นผู้นำคนไทยกลุ่มหนึ่งมีชื่อว่าพ่อขุนบางกลางหาว และเมื่อระหว่างปี พ.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๘๑ ได้ร่วมมือกับพ่อขุนผาเมือง ผู้นำคนไทยที่สำคัญอีกคนหนึ่ง นำกำลังทหารเข้ายึดเมืองสุโขทัย จากขอมสบาดโขลญลำพง แล้วสถาปนาสุโขทัยเป็นอาณาจักรของคนไทย          
                เชื่อกันว่า อาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยนี้ ทางทิศเหนือจดเมืองแพร่ทิศใต้จดนครสวรรค์ (พระบาง) ทิศตะวันตกจดเมืองตาก ทิศตะวันออกจดจังหวัดเพชรบูรณ์ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ สวรรคตในปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น